แชร์

พระสังฆารามโพธิสโมสร : วิถีแห่งพระโพธิสัตต์กวนอู (Guan Yu Way)

อัพเดทล่าสุด: 12 ธ.ค. 2023
199 ผู้เข้าชม

        พระสังฆารามโพธิสโมสรเป็นพัฒนาการทางความคิดที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากการแต่งภาพรูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี และรังสรรค์ภาพที่มีการสื่อความหมายมากกว่าภาพพระเครื่องทั่วไป ประกอบกับการศึกษาเพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเขียนบทความเรื่องรูปเหมือนปั๊ม / เหรียญมหาเทพกวนอู รุ่นที่ระลึกสร้างหอระฆังวัดบ้านกรับ ปี ๒๕๔๓ จากลักษณะข้อมูลที่หลากหลายและไม่อาจสร้างข้อสรุปให้เป็นหนึ่งหรือสองความเชื่อหลัก เรื่องราวหลังการสิ้นชีวิตของเทพแห่งสงครามเฉกเช่นกวนอู มีความพิสดารล้ำลึกยิ่งกว่าการเป็นตัวละครเอกในพงศาวดารจีนเรื่อง "สามก๊ก" กวนอูกลายเป็นสัญต่าง ๆ ที่ชนชั้นหลังต้องการให้เป็น มิเพียงจินตภาพของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ กวนอูเป็นเทพเจ้าในศาสนาขงจื้อและเต๋า เป็นพระโพธิสัตต์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เรื่อยมาถึงการดำรงตำแหน่งเง็กเซียนฮ่องเต้ตามความเชื่อของนิกายอนุตตรธรรม

        ในความเป็นพระโพธิสัตต์ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปรากฏสารตั้งต้นในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งบรรยายไว้ว่า "ภายหลังจากที่กวนอูเสียชีวิต ได้กลายเป็นอสุรกายซึ่งเต็มไปด้วยความพยาบาทลิบอง อยู่ในภูเขาและได้ปรากฏร่างต่อหลวงจีนเภาเจ๋งบนยอดเขาจวนหยกสันเพื่อเรียกร้องให้นำศีรษะของตนกลับคืนมา จากการเทศนาของหลวงจีนเภาเจ๋งที่กล่าวว่า กงเกวียนกำเกวียน ตัวฆ่าเขา เขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า ทำให้กวนอูซาบซึ้งในรสพระธรรมและปวารนาตนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ (wikipedia.org>wiki> กวนอู) สารัตถะนี้ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมาในการเป็นพระโพธิสัตต์ในพระพุทธศาสนาของกวนอู แต่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดเป็น "พระสังฆารามโพธิสโมสร : วิถีแห่งพระโพธิสัตต์กวนอู (Guan Yu Way)"

       สารัตถะที่อธิบายบทบาทและหน้าที่ของกวนอูในพุทธศาสนาซึ่งวิกีพีเดียนำเสนอก่อนกล่าวถึงการปวารนาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ได้อรรถาธิบายแนวคิดของชาวพุทธในจีนว่า "กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็นพระสังฆารามโพธิสัตว์ (แคนำผู่สัก) หมายถึง ผู้พิทักษ์ธรรมของชาวพุทธ โดยคำว่า สังฆาราม ในภาษาสันสกฤษหมายถึงสวน ชุมชน และหมายถึงวัด ดังนั้น พระสังฆารามจึงหมายถึงพระรัตนตรัยนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ กวนอูจึงเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์ โดยวัดและสวนที่ตั้งรูปปั้นกวนอู รูปปั้นของกวนอูมักถูกวางไว้ ณ ส่วนไกลด้านซ้ายของพระอุโบสถ คู่กับ พระเวทโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก ตรงกับ พระสกันทะ หรือ ขันธกุมาร)" และอธิบายขยายความว่า "ในปี ๑๑๓๕ กวนอูประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้า จื้ออี่ ผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริก ว่ากันว่าขณะนั้น จื้ออี่นั่งสมาธิอยู่ที่เขาจวนหยกสันยฺวี่เฉฺวียน และตื่นจากสมาธิเพราะการปรากฏตัวของกวนอู กวนอูขอให้จื้ออี่สอนหลักธรรมให้ตน และปวารณาตนขอรับศีลห้า จึงกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่า กวนอูปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและเป็นผู้ช่วยเหลือจื้ออี่ก่อตั้งวัดยฺวี่เฉวียน จนปรากฏตราบเท่าทุกวันนี้

       ว่ากันตามเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น วีกีพีเดียยังต้องการพยานเอกสารอ้างอิง ประเด็นนี้มิใช่เรื่องง่ายที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และความจริงที่ว่ากวนอูเป็นพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้ด้วยเหตุใด ก็เป็นอจินไตยอย่างหนึ่ง เป็นอจินไตยเพราะคุณค่าที่ได้จากการสืบค้นหาความจริง มีคุณประโยชน์น้อยยิ่งกว่าการจัดระเบียบองค์ความรู้ที่หลอมรวมหลักปฏิบัติด้านคุณธรรมและจริยธรรมของจีนโบราณไว้ในจินตภาพของเทพแห่งสงครามที่ชนชาวจีนปรุงแต่งให้เป็นสัญ (Idol) หรือแบบอย่างที่ดีของมนุษย์ผู้ได้รับการยกย่องและสถาปนาให้เป็นเทพเจ้า/พระโพธิสัตต์ของสามศาสนา ซึ่งต่างจากเทพในปกรณัมที่บังเกิดขึ้นจากความเชื่อบนฐานความไม่รู้แจ้งและความกลัวในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่าจินตภาพที่ชนชั้นหลังศรัทธาและสักการะมิได้มีการพัฒนาไปตามครรลองที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในจีน (สำนักสัทธรรมปุณฑริก) ได้จุดประกายไว้

        ความเป็นพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของเทพแห่งสงครามเฉกเช่นกวนอู มิได้มีโครงสร้างหน้าที่ (Structure & function) อันเป็นรูปธรรมและเด่นชัดเหมือนพระโพธิสัตว์องค์อื่น ดังสังเกตได้จากหนังสือ พระพุทธศาสนามหายาน พิมพ์ใน งานฉลองสมโภชรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สารัตถะส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ของมหายาน หน้า ๔๒๓ เป็นภาพกวนอูพร้อมคำอธิบาย "แคนำโพธิสัตว์ (กาลั้ม) เทพรักษาพระพุทธศาสนา (เทพเจ้ากวนอู) แต่ไม่มีการนำเสนอข้อมูลอะไรเลย ต่างจากพระเวทโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก) เทพผู้คุ้มครองปกปักรักษาวัดวาอารามและพุทธบริษัททั้งหลายอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีคำอธิบายโดยสังเขป ข้อมูลอันเป็นหมุดเชื่อมที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใด มิใช่สาระสำคัญ ประเด็นอันพึงสันนิษฐานได้คือ พระเวทโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตต์กวนอู มีสถานะเป็นมหาเทพโพธิสัตว์ผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา สถานะดังกล่าว จัดอยู่ในลำดับถัดจากพระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) พระมหาสถาปราปต์โพธิสัตว์ พระกิษิติครรภโพธิสัตว์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้มีปณิธานในการโปรดสัตว์

        พิจารณาจากวิวัฒนาการของศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับพระมหาเทพโพธิสัตต์กวนอู มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ พระมหาเทพโพธิสัตต์กวนอู เป็นสัญที่ยังคงเป็นพลวัตร (Dynamic) ไม่หยุดนิ่งเหมือนเทพเจ้าองค์อื่นในศาสนาเต๋าและขงจื้อ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูเป็นไปในสิ่งที่มนุษย์/สาวกต้องการให้เป็น อาทิ ลัทธิอนุตตรธรรมสถาปนาท่านเป็น "กวนอริยมหาราชเจ้า" และใช้ "คัมภีร์เถาเอวี๋ยนหมิงเซิ่งจิง (คัมภีร์อริยตะวันเดือน) ถือว่าเป็นโอวาทวจนะที่กวนอริยมหาราชเจ้าโปรดประทานเป็นการเฉพาะ เพื่อเผยแผ่คุณธรรม ความจงรัก กตัญญู สุจริต จิตสูงส่งแกร่งตรง เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม, ความเชื่อเรื่องการดำรงสถานะเง็กเซียนฮ่องเต้ในหมู่ศาลเจ้าทั้งหลาย, เทพเจ้าผู้สงเคราะห์/ช่วยเหลือมนุษย์ในสารพัดความเดือดร้อนทั้งหลายทั้งปวงที่ชาวมูในสยามประเทศคุ้นชินกับการบวงสรวงเซ่นไหว้เทพเจ้าทุกสัญชาติ. นี่คือความหลากหลายที่ยังไม่อาจกำหนดโครงสร้างและหน้าที่ของสรรพความเชื่อทั้งหลายทั้งปวงที่หลอมรวมขึ้นเป็นจินตภาพที่ซ้อนทับจนไม่สามารถแยกความเชื่อต่าง ๆ ออกจากกันได้

        ในอีกมิติหนึ่ง กวนอูเป็นตำนานความยิ่งใหญ่ที่ยังไม่สิ้นสุดของเทพผู้มีตัวตนจริง (เซียนมนุษย์) พีรยุทธ สุเทพคีรี ยกข้อความจากหนังสือ "กวนอู เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ผู้ยึดมั่นในคุณธรรม มั่นคงในความสัตย์" ว่า เมื่อศึกษาประวัติของกวนอูตลอดทั้งชีวิตแล้ว กวนอูเปรียบดั่งดวงจันทร์ที่ส่องแสงสุกสกาวบนท้องฟ้า มีจิตใจกว้างขวางและบริสุทธิ์สะอาด เป็นจอมทัพผู้เกรียงไกร องอาจกล้าหาญและมีความจงรักภักดี หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง จิตใจที่กล้าหาญของกวนอูได้หล่อหลอมจนกลายเป็นจิตใจที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าชีพจะดับสูญแล้ว แต่จิตใจนี้ ยังคงสถิตอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย ด้วยเหตุนี้ กวนอูจึงได้รับการยกย่องว่ามีความปราดเปรื่องเหนือคนธรรมดาและกลายเป็นเทพเจ้าในที่สุด และพีรยุทธ สุเทพคีรี ทิ้งท้ายด้วยคำพูดของเขาว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนให้ประจักษ์ว่าชาวจีนทั่วไปเอาอุดมคติของตนฝากไว้กับความดีงามของกวนอู

        คำว่า "ชาวจีนทั่วไปเอาอุดมคติของฝนฝากไว้กับความดีงามของกวนอู" เป็นประเด็นสำคัญที่ควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง การที่เทพแห่งสงครามคนหนึ่งซึ่งมีคุณลักษณะสอดคล้องกับหลักคุณธรรมจริยธรรมของจีนโบราณ แม้นมิใช้ความสมบูรณ์แบบอย่างในโลกอุดมคติ แต่สังคมจีนโบราณได้หลอมรวมคุณธรรมจริยธรรมเข้าไว้ในตัวละครที่ชื่อว่า "กวนอู" ผ่านพงศาดาร นิยายปรัมปราและอุปรากรจีน (งิ้ว) มานานนับพันปี ภาพเทพแห่งสงครามในรูปชายหน้าสูงใหญ่ใบหน้าแดงกล่ำ สวมเนื้อสีเขียวลายมังกร มือถือง้าวลายมักงกรในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่ายืน นั่ง ขี่ม้า ล้วนเป็นเปลือกนอกอันเป็นสัญญะหรือสื่อความหมายถึงหลักคุณธรรมจริยธรรมซึ่งชาชาติจีนยึดถือเป็นจารีตและวิถีปฏิบัติที่ส่งผ่านมาถึงทุกวันนี้ สัญญะนี้ มิใช่การสื่อความหมายเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ตามที่ชนชาวสยามเข้าใจกัน แต่หมายรวมถึงหลักคุณธรรมและจริยธรรมทุกประการ

        มหาเทพโพธิสัตต์กวนอูตามสัญญะหรือความหมายที่แท้จริง ย่อมมิใช่เทพผู้ประทานพรแก่มนุษย์ที่บวงสรวงเซ่นไหว้ตนตามลัทธิบูชาผี แต่เป็นรูปเคารพอันเป็นมิ่งขวัญ (Idol) ที่เกื้อกูลหนุนเนื่องให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมและจริยธรรมประสบความสำเร็จตามควรแก่การและวิริยะอุตสาหะที่ได้กระทำ ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อหมอนใบจากบ้านเกิดเมืองนอนลงเรือสำเภาออกไปประจญภัย/แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในทั่วทุกมุมโลก ต่างประสบความสำเร็จ สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีเป็นจำนวนมาก แม้คนที่ไม่มีวาสนาก็ไม่ตกอับ ไม่เป็นยาจกแสนเข็ญเพราะไม่รู้จักทำกิน กรณีตัวอย่างเรื่องความสำเร็จในการสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าของความศรัทธาที่มีต่อมหาเทพโพธิสัตต์และดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมจริยธรรมที่ส่งผ่านมาแต่ครั้นโบราณกาลด้วยการปฏิบัติ มิใช่การบวงสรวงเซ่นไหว้แต่ประการใด

        ในมุมมองของผู้เฒ่าซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นทั้งผู้บริหารและนักวิชาการซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชาชีพที่เคยร่ำเรียนมา กระทั่งถึงวัยอันเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตที่มีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา และมีโอกาสเข้าไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมวิชาชีพ (ระยะกลาง ๓ เดือน หรือ ๑๒๐ ชั่วโมง) ให้กับผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงแห่งหนึ่ง สิ่งที่พบเห็นเป็นการยืนยันความเชื่อที่ก่อตัวมานานพอสมควร พระบรมศาสดามิได้สอนให้ทุกคนเป็นเช่นพระ ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเป็นพระ เส้นทางหรือวิถีชีวิตของฆราวาสหรือผู้ครองเรือนจำเป็นต้องมุ่งสู่พระนิพพานหรือไม่ ความโน้มเอียงที่จะเชื่อคือ "ไม่จำเป็น" พระนิพพานคือเป้าหมายสูงสุดของผู้แสวงหาความหลุดพ้น แต่เป้าหมายอันเป็นประโยชน์ภายหน้าของผู้ครองเรือน ย่อมต้องปรับลดระดับมาเป็น "การดำเนินชีวิตที่ดีงามบนฐานปัญญา"

        ประสบการณ์จากการดำเนินงานจัดสร้างรูปเหมือนปั๊ม / เหรียญมหาเทพกวนอู รุ่นหมื่นเรื่องสมปราถนา  ถวายหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ในปี ๒๕๔๓ เป็นจุดเริ่มต้นและประกายความคิดในการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับรูปเหมือนปั๊ม / เหรียญมหาเทพกวนอู ในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ และด้วยประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ความเป็นผู้ใฝ่รู้ด้านการศึกษาพุทธธรรมเชิงประยุกต์ ผนวกกับการคลุกคลีอยู่กับวงการพระเครื่องมานานกว่า ๔๐ ปี เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลหนุนเนื่องให้เกิดความตระหนักรู้ในความยิ่งใหญ่ของเทพแห่งสงครามจากวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก ความยิ่งใหญ่ที่บังเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นชีวิตของท่าน และดำรงอยู่ในจิตวิญญาณของชนชาวจีนมานานนับพันปี แม้สังคมโลกยุคใหม่จักแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักคุณธรรมจริยธรรมภาคปฏิบัติที่หลอมรวมอยู่ในจินตภาพของเทพแห่งสงครามผู้ได้รับการสถาปนาให้เป็นมหาเทพโพธิสัตต์ผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา ยังทรงคุณค่าและพึงนำมาเป็นแบบแผนในการพัฒนากำลังคนคุณภาพบนฐานสัมมาชีพในพระบวรพุทธศาสนา

         ความยิ่งใหญ่ของมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูที่ปรากฏและสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ มิใช่ความยิ่งใหญ่บนฐานของอำนาจทางการทหาร แต่เป็นความยิ่งใหญ่บนฐานของศรัทธา/แบบอย่างที่ดีงามของนักสู้ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการงาน ดังบทหนึ่งในหนังสือ"กวนอู เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง" พีรยุทธ สุเทพคีรี สรุปถึงความยิ่งใหญ่ของกวนอูว่า "นับตั้งแต่สมัยสามก๊กจนถึงสมัยราชวงศ์สุยและราชวงส์ถัง ชาวจีนนับถือกวนอูเป็นวีรบุรุษที่ไม่มีใครทัดเทียมได้ และยังกราบไหว้กวนอูเป็นเทพเจ้าอีกด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้มีการตั้งศาลเจ้ากวนอูขึ้นทั่วประเทศ ในปลายสมัยราชวงศ์หยวน หลอก้วนจงได้เขียนพงศาวดารสามก๊กขึ้น ทำให้กวนอูมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น แม้แต่สตรีและเด็ก ๆ ต่างรู้จักกวนอู พระเจ้าจักรพรรดิ์ทุกยุคทุกสมัยต่างยกย่องกวนอูเป็นตัวแทนของความองอาจกล้าหาญและความจงรักภักดี มีพระจักรพรรดิ์ ๑๖ พระองค์ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กวนอู ทำให้กวนอูมีศักดิ์ศรีเคียงคู่กับขงจื้อ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน"

        ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความองอาจหาญกล้าของเทพแห่งสงครามเฉกเช่นกวนอู เป็นวิวัฒนาการทางด้านความเชื่อและวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมานานนับพันปี มีความแปลกแยกแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมของคนจีนในแต่ละภูมิภาค แต่ละลัทธิความเชื่อ แต่ละชนชั้น ที่สำคัญคือไม่ว่าที่ใดมีชนชาวจีนอาศัยอยู่ ที่นั่นล้วนมีความเชื่อ วัฒนธรรม จารีตประเพณี อันเกี่ยวกับมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน สถานประกอบกิจการงาน ห้องทำงานของผู้บริหาร ศาลเจ้า วัดมหายาน ล้วนมีประติมากรรม/จิตรกรรมมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญของสถานที่นั้น ด้วยความเชื่อที่ว่ามหาเทพโพธิสัตต์กวนอูเป็นเทพเจ้าที่สามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ขจัดโรคภัยไข้เจ็บ คุ้มครองความปลอดภัย ช่วยให้ทำมาค้าขึ้นและนำมาซึ่งความร่ำรวย ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงศรัทธาเลื่อมใสมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูเป็นอันมาก และได้ปรับเปลี่ยนสถานะจาก "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" เป็น "เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง" 

        พิเคราะห์จากนัยอันเป็นความเชื่อในประเด็นการช่วยให้ทำมาค้าขึ้นและนำมาซื่งความร่ำรวย แล้วตัดตัวแปรเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาร์ย์ออกไป องค์ประกอบที่มีความเป็นไปได้และน่าจะเป็น คงไม่พ้นสมมติฐาน "บุคคลใดที่เคารพศรัทธาในองค์มหาเทพโพธิสัตต์กวนอู พึงต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมเยี่ยงมหาเทพโพธิสัตต์ที่บุคคลนั้นเคารพนับถือ" ประติมากรรม/จิตรกรรมที่จัดวางไว้ในส่วนที่สำคัญของสถานประกอบกิจการเหล่านั้น จึงเป็นเสมือนหนึ่งหลักประกันที่สื่อให้คู่ค้า/ลูกค้ารู้ว่าผู้ประกอบกิจการที่ติดต่อทำธุรกรรมด้วยเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความซื่อสัตย์ในการประกอบธุรกิจการค้า ข้อสรุปดังกล่าว เป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำพาบุคคลผู้เคารพศรัทธาในองค์มหาเทพโพธิสัตต์กวนอู และยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมของบรรพชน ประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการค้า สามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี แม้ไม่มีวาสนาหรืออยู่ในสถานะที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดยากจนข้นแค้นถึงขั้นยากจนเข็ญใจ ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลซึ่งเกิดขึ้นจาก "ความศรัทธา มุ่งมั่น หาญกล้า อดทน" ที่มีต่อมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูและคุณธรรมจริยธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่หลอมรวมขึ้นเป็นคุณลักษณะของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ไม่ได้มีธรรมใดที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักสัมมาชีพอันเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงามของฆราวาสในพุทธศาสนาแม้แต่น้อย

        อุธาหรณ์นี้ เป็นแรงบันดาลและประกายความคิดในการประมวลจริยวัตรของมหาเทพโพธิสัตต์กวนอู สังเคราะห์เป็น"หลักมหาเทวานุวัตร: วิถีนักสู้ผู้ชนะ" ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการที่นำพาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ดังนี้

          ๑) เชี่ยวชาญ ช่ำชอง

          ๒) ศรัทธา มุ่งมั่น

          ๓) ซื่อตรงในวิชาชีพ

          ๔) หาญกล้า อดทน

          ๕) รู้คุณคน ตอบแทนตามควร

        องค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้ พึงต้องมีให้ครบทุกองค์ประกอบ จึงก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จได้ จะขาดองค์ประกอบใดองคประกอบหนึ่งมิได้ และจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวิริยะของแต่ละบุคคล องค์ประกอบทั้ง ๕ นี้ สามารถจัดหมวดหมู่ใน ๒ กลุ่มคือ พลังจิต ได้แก่ ศรัทธา มุ่งมั่น หาญกล้า อดทน พลังการกระทำ ได้แก่ เชี่ยวชาญ ช่ำชอง, ซื่อตรงในวิชาชีพ, รู้คุณคน ตอบแทนตามควร

         จากหลักมหาเทวานุวัตร พัฒนาการทางความคิดก้าวไปสู่การน้อมนำมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนด้วยการกำหนดอุดมการณ์เชิงปรัชญาดังนี้ "พัฒนาตนเยี่ยงมหาเทพโพธิสัตต์กวนอูเพื่อเกื้อกูลบุคคลอื่นให้มีชีวิตที่ดีงามบนฐานปัญญา" ให้ความสำคัญกับหลักสัมมาชีพและธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีความเชื่อว่า "ธรรมกินได้: ปฏิบัติธรรมอันพอเหมาะ สร้างงาน สร้างรายได้ที่เพียงพอกับการดำเนินชีวิตที่ดีงามบนฐานปัญญา", ศึกษาเรียนรู้/ประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาผลิตภาพ (Productivites) ในกิจการงานที่รับผิดชอบ หลักการอันเป็นกรอบในการศึกษาเรียนรู้ ประกอบด้วยหลักอาชีวปริสุทธิศีล (การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม), หลัก"อุฏฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา สมํกปฺเปติ ชีวิตํ สมฺภตํอนุรกฺขติ"(ผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการ เลี้ยงชีวิตพอสมควร จึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้).

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความหลักมหาเทวานุวัตร
หลักมหาเทวานุวัตรเป็นวิถีปฏิบัติที่ประมวลขึ้นจากจริยวัตรของมหาเทพโพธิสัตต์กวนอู ผู้เป็นเทพแห่งสงครามในพงศาวดารจีนเรื่อง "สมก๊ก" ทั้งเป็นเทพของ ๓ ศาสนา ประกอบด้วย ขงจื้อ, เต๋า, พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน. คุณธรรมจริยธรรมที่หลอมรวมเป็นจินตภาพของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ก่อเกิดศรัทธา/มุ่งมั่นในการประกอบกิจการงานตามเยี่ยงอย่างของเทพเจ้าที่ตนนับถือ ประสบความสำเร็จสมปรารถนา คนจีนโพ้นทะเล (แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า) ทั่วทุกมุมโลก ก่อร่างสร้างฐานะจนมั่นคง มั่งคั่ง ร่ำรวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี แม้ไม่มีวาสนา ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ปฏิบัติตามหลักมหาเทวานุวัตรคนใดที่ยากจนแสนเข็ญ
10 พ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy